UNODC เผยรายงานใหม่ ชี้การล่าค้าสัตว์และพืชหายากยังหนัก ก่อโรคร้าย ปัญหาสิ่งแวดล้อม

        สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เปิดเผย ขบวนการลักลอบล่า-ค้าสัตว์ป่าข้ามชาติยังคงเป็นภัยคุกคามใหญ่ต่อความอยู่รอดของสัตว์และพืชหายากหลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวลิ่น ชิ้นส่วนเสือ และไม้พะยูง ทั้งยังก่อปัญหาความรุนแรง และเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคระบาดใหม่ ย้ำทุกประเทศต้องยกระดับกระบวนการยุติธรรมให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อร่วมกันปราบปรามเครือข่ายอาชญากรรมค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ
        UNODC เปิดตัวรายงานอาชญากรรมลักลอบค้าสัตว์ป่าทั่วโลก (The World Wildlife Crime Report 2020) ซึ่งได้เผยว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 – พ.ศ.2562 มีการตรวจยึดซากและชิ้นส่วนสัตว์และพืชหายากราว 6,000 ชนิดพันธุ์ รวมกว่า 180,000 รายการ ที่ถูกลักลอบล่าค้าโดยเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติที่โยงใยกว่า 150 ประเทศทั่วโลก
        UNODC ย้ำว่า ข้อมูลจากรายงานดังกล่าว นอกจากจะชี้ให้เห็นถึงความร้ายแรงของปัญหาการลักลอบล่าค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ที่ส่งผลกระทบต่อทุก ๆ ประเทศ ทั้งทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่งคง และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ยังสร้างความเสี่ยงโรคระบาดอุบัติใหม่ที่เกิดจากการเกิดการกระโดดข้ามของโรคระบาดจากสัตว์ป่าสู่มนุษย์ ดังเช่นการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา
        โดยรายงานฉบับนี้ได้ชี้ว่า การลักลอบค้าตัวลิ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในสัตว์ต้องสงสัยว่าเป็นพาหะของโคโรนาไวรัส ต้นตอการระบาด COVID-19 ทั่วโลก ได้เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าระหว่างช่วงปี พ.ศ.2554 – พ.ศ.2561 และขึ้นแท่นเป็นสัตว์ที่ถูกลักลอบล่าค้ามากที่สุดในโลก ดังนั้นการยุติการค้าสัตว์ป่าจึงเป็นก้าวสำคัญในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ และป้องกันความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้คนทั่วโลก
        “ในขณะที่เครือข่ายอาชญากรรมค้าสัตว์ป่าข้ามชาติกำลังกอบโกยผลกำไรมหาศาลจากการลักลอบล่าค้าสัตว์และพืชหายาก คนยากจนท้องถิ่นต้องทนทุกข์กับผลกระทบจากอาชญากรรมของคนเหล่านี้” Ghada Waly ผู้อำนวยการ UNODC กล่าว “ดังนั้นเพื่อที่จะคุ้มครองผู้คนและโลกใบนี้ภายใต้วิถีการพัฒนาที่ยั่งยืน และสร้างอนาคตที่เข้มแข็งกว่าเดิมหลังวิกฤต COVID-19 เราจึงไม่อาจมองข้ามปัญหาอาชญากรรมลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายได้”

(อ้างอิง: https://greennews.agency/?p=21431)
Powered by Translations.com GlobalLink OneLink Software