“เที่ยวป่า” New Normal ลดขยะ รักษาสิ่งแวดล้อม

        ขยะเป็นปัญหาโลกแตก ซึ่งในแต่ละปีมีแต่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะขยะพลาสติก สำหรับประเทศไทย มีขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11-12 ในแต่ละปี โดยเมื่อปี 2563 มีปริมาณประมาณ 3.2 ล้านตัน และยังมีภาพข่าวที่น่าสะเทือนใจ คือ ภาพซากกวางป่าในอุทยานแห่งชาติขุนสถาน อ.นาน้อย จ.น่าน เมื่อทีมสัตวแพทย์ป่าผ่าอวัยวะก็พบขยะพลาสติกอัดแน่นอยู่ในกระเพาะอาหารถึง 7 กิโลกรัม ย้อนหลังหนึ่งปีก่อนข่าวนี้ก็มีภาพชวนอึ้ง เมื่อนักท่องเที่ยวรายหนึ่งโพสต์ภาพ “อึ” ช้าง บนถนนสายหนึ่งที่ตัดผ่าน “มรดกโลก” อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นอึที่เต็มไปด้วยมวลขยะพลาสติกจำพวกห่อขนมกรุบกรอบ
        นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เคยเล่าว่า ขยะกับสัตว์ไม่ใช่สิ่งที่ควรใกล้ชิดกัน แต่มนุษย์กลับทำให้ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นโดยการให้อาหารสัตว์ เหตุเพราะความน่ารักน่าเอ็นดู สงสาร และอยากถ่ายรูปเซลฟี่ การกระทำนี้ส่งผลให้สัตว์เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการหาอาหาร สัตว์เรียนรู้การรื้อถังขยะและคิดว่าขยะของมนุษย์เป็นของกินได้ สัตว์ที่มีความคุ้นเคยกับคนจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากขยะมากที่สุด เช่น ลิง เก้ง กวาง ช้าง นก เม่น อาหารส่วนใหญ่จะอยู่ในถุงพลาสติก หรืออะลูมิเนียม เวลาคนขยับถุงพลาสติกจะมีเสียงก๊อบแก๊บ เรียกร้องสัตว์ให้เข้ามาหา สัตว์ที่อยู่ใกล้คนมากๆ รู้ว่าในถุงพลาสติกมีของที่กินได้ แต่ที่ไม่รู้คือ พลาสติกกินไม่ได้ ก็กลืนเข้าไปทั้งถุง
        ขยะพลาสติกที่นักท่องเที่ยวนำขึ้นไปเที่ยวป่าในอุทยานแห่งชาติ นอกจากจะสร้างภาระให้กับเจ้าหน้าที่ที่ต้องแบกลงมาทิ้งด้านล่าง ยังเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่าตัวเล็กตัวใหญ่มานานแล้ว ขยะพลาสติกที่พบในกระเพาะกวางป่าไม่ได้มีแค่ถุงหรือซองใส่อาหาร แต่ยังมีถุงมือยาง ผ้าเช็ดมือ (ทิชชูเปียก) กางเกงในผู้ชาย จนถึงเชือกฟาง
        กรมอุทยานฯ จึงได้กำหนดมาตรการการเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ได้แก่ ห้ามให้อาหารสัตว์ ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟมเข้าในเขตอุทยาน ห้ามเก็บพันธุ์ไม้/ดอกไม้ ห้ามขีดเขียนในอุทยานแห่งชาติ ห้ามล่าสัตว์ป่า ห้ามก่อกองไฟ ห้ามนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าภายในอุทยานแห่งชาติ ห้ามส่งเสียงดัง ห้ามนำสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ต่างถิ่นเข้า ห้ามพกพาอาวุธเข้าอุทยานแห่งชาติ ห้ามเดินออกนอกเส้นทาง และห้ามทิ้งขยะ

(อ้างอิง: https://www.thairath.co.th/lifestyle/travel/2035883)
Powered by Translations.com GlobalLink OneLink Software